เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 2.สีหสูตร
เมื่อทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตควรบรรลุธรรมสงบ อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา1ของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดแก่สีหเสนาบดีนั้นบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
ข้ามพ้นความสงสัย2 ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจาก
ความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย3ในศาสนาของพระศาสดา จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
สีหเสนาบดีนั้นทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มีขายมา”
เมื่อคืนนั้นผ่านไป ได้สั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์

เชิงอรรถ :
1 สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นด้วย
สยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือ มิได้รับการแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก (วิ.อ.
3/293/181, สารตฺถ.ฏีกา 3/26/237)
หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเองโดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือ
ทูลถาม (ที.สี.อ. 1/298/250) และดู วิ.ม. (แปล) 4/25/32-33, ที.สี. (แปล) 9/298/109, 355/149
2 ความสงสัย ในที่นี้หมายถึงความสงสัย (วิจิกิจฉา) 8 ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ 10 ประการ
ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ. (แปล) 34/1008/261 และความสงสัย 16 ประการ ดู รายละเอียดใน ม.มู.
12/18/11, สํ.นิ. 16/20/27
3 ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยสนับสนุน
ให้เชื่อ เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. 1/299/250, องฺ.ฉกฺก.อ.3/16/106, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
3/16/118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :233 }